ไอโอดีน สารอาหารที่ขาดไม่ได้

ไอโอดีน สารอาหารที่ขาดไม่ได้

ไอโอดีนเป็นแร่ธาตุที่สำคัญที่สุดชนิดหนึ่งที่จำเป็นสำหรับพัฒนาการของทารก โดยเฉพาะต่อมไทรอยด์ที่แข็งแรง ต่อมไทรอยด์ควบคุมการปล่อยฮอร์โมนที่จำเป็นสำหรับการเผาผลาญ ควบคุมการเจริญเติบโต อุณหภูมิของร่างกาย การผลิตเซลล์เม็ดเลือดตลอดจนการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ การขาดสารไอโอดีนในทารกอาจนำไปสู่อันตรายต่อสุขภาพมากมาย ดังนั้นการบริโภคไอโอดีนในปริมาณที่เพียงพอจึงจำเป็นสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และเด็กๆค่ะ

ไอโอดีน คืออะไร

ไอโอดีน (Iodine) เป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับมนุษย์ ไอโอดีนสิ่งสำคัญสำหรับการเติบโตพัฒนาการและสุขภาพที่ดี ซึ่งร่างกายของเราต้องการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยค่าที่แนะนำสำหรับทารกคือ 90 ไมโครกรัมต่อวัน สำหรับเด็กคือ 90-120 ไมโครกรัมต่อวัน ผู้ใหญ่ 220 ไมโครกรัมต่อวัน และคุณแม่ตั้งครรภหรือให้นมบุตร 290 ไมโครกรัมต่อวัน ความต้องการไอโอดีนเพิ่มขึ้นประมาณ 50% ในระหว่างตั้งครรภ์และให้นมบุตร เนื่องจากการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์เพิ่มขึ้น การถ่ายเทไอโอดีนไปยังทารกในครรภ์ การขับออกทางปัสสาวะและถ่ายโอนไปยังทารกทางน้ำนมแม่ค่ะ

ไอโอดีนหาได้จากที่ไหน

ไอโอดีนในอาหารส่วนใหญ่มักมาจากเกลือเสริมไอโอดีนและอาหารที่มีไอโอดีน อาทิเช่น 

  • สาหร่ายทะเล ปลาน้ำเค็ม อาหารทะเล กุ้ง หอย ปู ซึ่งสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรระมัดระวังในการเลือกปลา เนื่องจากปลาบางชนิดมีปรอทในระดับสูงกว่าปลาชนิดอื่นๆค่ะ 
  • ผัก เช่น ผักโขม ผักกาดเขียว บร็อคโคลี่ เป็นต้น
  • ไข่เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม รวมถึงนมถั่วเหลือง
  • น้ำมันตับปลา 
  • เมล็ดงา ถั่วเมล็ดแบน
  • เกลือเสริมไอโอดีน น้ำปลาเสริมไอโอดีน

ผลกระทบของการขาดสารไอโอดีน

หากเด็กและผู้ใหญ่ไม่ได้รับสารไอโอดีนเพียงพอ อาจนำไปสู้การขาดสารไอโอดีนซึ่งส่งผลเสียหลายประการต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการ และเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของความพิการทางสติปัญญาที่สามารถป้องกันได้ค่ะ โดยผลกระทบจะแตกต่างกันในตามช่วงอายุได้แก่

  • ทารกในครรภ์ ก่อให้เกิดภาวะความพิการทางสมอง โรคเอ๋อ หรือโรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมนในทารก มีความผิดปกติทางระบบประสาทและการเคลื่อนไหว สูญเสียการได้ยินค่ะ
  • ทารกแรกเกิดถึง 2 ปี ส่งผลต่อพัฒนาการสมองไม่สมบูรณ์ ความผิดปกติทางระบบประสาทและการเคลื่อนไหว โรคคอพอก เป็นต้น
  • เด็กและวัยรุ่น ส่งผลให้เกิดโรคคอพอก ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ ร่างกายแคระแกร็น พัฒนาการทางด้านสติปัญญาช้า
  • ผู้ใหญ่และสตรีตั้งครรภ์ ส่งผลให้เกิดโรคคอพอก เชื่องช้า ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ ผิวหนังแห้ง ทนความหนาวเย็นไม่ค่อยได้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ สตรีมีครรภ์มีโอกาสเสี่ยงต่อการแท้งสูงค่ะ

ความต้องการไอโอดีนของร่างกายเปลี่ยนแปลงไปตามอายุและยังแตกต่างกันสำหรับหญิงตั้งครรภ์และการบริโภคไอโอดีนมากเกินไปก็เป็นอันตรายต่อทารกเช่นกัน โดยส่วนใหญ่ไอโอดีนที่บริโภคจะถูกขับออกจากร่างกายพร้อมกับปัสสาวะค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง