กระดูกข้อศอกเคลื่อนในเด็ก
กระดูกข้อศอกเคลื่อนในเด็ก บทเรียนราคาแพงจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือการไม่ทันได้ระวังของคุณพ่อคุณแม่หรือพี่เลี้ยงเด็ก โดยการดึงแขนลูกแรงๆซึ่งเสี่ยงต่อกระดูกข้อศอกเลื่อนหลุดได้ค่ะ อุบัติเหตุอันดับต้นๆโดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีควรระมัดระวังเป็นพิเศษค่ะ เนื่องจากสรีระของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อศอกยังมีการพัฒนาไม่สมบูรณ์ ง่ายต่อการเคลื่อนหลุดถ้าหากมีการขยับผิดจังหวะ กระดูกข้อศอกเลื่อนเกิดจากการที่กระดูกแขนหลุดออกจากเส้นเอ็นที่ยึดกระดูกไว้บริเวณข้อศอกค่ะ โดยสาเหตุหลักมักเกิดจากการจับมือลูกแล้วมีการกระตุกแรงๆอย่างรวดเร็ว การดึงมือหรือยกเด็กขึ้นมาจากพื้นโดยใช้แขนหรือมือเพียงข้างเดียว รวมทั้งการเล่นจับมือลูกเหวี่ยงแบบชิงช้า และสาเหตุอื่นๆที่อาจพบได้ เช่น อุบัติเหตุลื่นล้ม เป็นต้น กระดูกข้อศอกเลื่อนหากเคยเป็นแล้วจะมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำได้ง่ายค่ะ โดยเฉพาะในช่วง 3-4 สัปดาห์แรกที่ลูกเคยกระดูกข้อศอกเลื่อน จึงต้องระมัดระวังให้มากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวค่ะ อาการแสดงว่าข้อศอกเคลื่อน คือ ลูกจะร้องไห้งอแงทันที่เนื่องจากรู้สึกเจ็บปวดที่แขนมาก ซึ่งเป็นอาการที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนมองว่าลูกงอแงปกติ เดี๋ยวคงจะหยุดร้องไห้ไปเอง เมื่อเวลาผ่านไปสักพักลูกจะยังคงร้องไห้จากความเจ็บปวดอยู่และไม่ยอมขยับแขนหรือยกแขนที่เจ็บโดยเด็ดขาด ลักษณะของข้อศอกจะอยู่ในท่างอเล็กน้อย หุบเข้าหาลำตัว ลูกจะยังคงขยับหัวไหล่ได้แต่จะไม่สามารถขยับข้อศอกได้เพราะเจ็บมากค่ะ ในเด็กบางรายอาจขยับเข้าที่ได้เอง สามารถขยับแขนได้เป็นปกติและหายปวดหลังจากกระดูกข้อศอกเข้าที่ค่ะ แต่ถึงอย่างไรคุณแม่คุณพ่อก็ควรพาลูกไปพบแพทย์เฉพาะทางนะคะ เพื่อตรวจให้ละเอียดเพิ่มเติมว่าไม่ได้มีปัญหาอย่างอื่นร่วมด้วยและการรักษาที่ถูกวิธีค่ะ การรักษาอาการข้อศอกเคลื่อน หากพบว่าลูกมีอาการคล้ายข้อศอกเลื่อน ควรทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อน โดยการจัดให้ส่วนที่เจ็บอยู่นิ่งๆมากที่สุด ประคบเย็นและรักษาสภาพข้อศอกให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุดค่ะ จากนั้นให้รีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป ข้อควรระวังอย่าพยายามขยับแขนให้เข้าที่ด้วยตัวเองนะคะ เพราะอาจทำผิดพลาดแล้วทำให้บาดเจ็บที่ข้อศอก เส้นเอ็น เส้นเลือดบริเวณนี้มากขึ้นค่ะ การป้องกันข้อศอกเลื่อนในเด็กคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรดึงหรือกระชากแขนลูกอย่างรุนแรงอาจทำให้กระดูกข้อศอกหลุดได้ หากลูกล้มหรือนั่งที่พื้นควรยกตัวลูกด้วยกาจับตัวลูกที่ใต้รักแร้ หรือจับที่บริเวณแขนท่อนบนส่วนที่ติดกับหัวไหล่แล้วจึงยกขึ้น ไม่ควรดึงเด็กขึ้นมาจากพื้นด้วยมือหรือจับที่แขนท่อนล่างเพียงข้างเดียวค่ะ ไม่อุ้มลูกเล่นเหวี่ยงแบบชิงช้าเพราะอาจเกิดอันตรายได้รับบาดเจ็บอย่างอื่นๆร่วมด้วยค่ะ ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์มักเกิดขึ้นได้เสมอค่ะ เมื่อเกิดขึ้นแล้วคุณพ่อคุณแม่อย่ามัวโทษตัวเองนะคะ แต่หากควรระมัดระวังการจับหรือการดึงแขนลูกมากเป็นพิเศษค่ะ […]