Prevention of accidents in children Age from birth 1 year 1

การป้องกันอุบัติเหตุในเด็ก (อายุตั้งแต่แรกเกิด- 1 ปี)

เด็กทารก ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 3 เดือน อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้บ่อยมักจะเป็นความไม่ระมัดระวัง ความประมาทของผู้ใหญ่เอง ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย พี่เลี้ยง เพราะเด็กยังได้แต่นอนอยู่เฉยๆ ทำอะไรเองยังไม่ได้ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นก็คงจะเป็นเรื่อง ของร้อนๆ เช่น กระติกน้ำร้อน กาน้ำร้อน แก้วชา กาแฟ ร้อนๆ ซึ่งอาจจะทำพลาดหกรดเด็กได้ หรือแม้แต่จะเป็นเรื่องกระเป๋าน้ำร้อนของคุณแม่ที่เอาไว้ประคบร้อนต้องระวังเรื่องการปิดฝาให้สนิท และไม่ควรประคบใกล้ตัวเด็กมากเกินไปค่ะ

สำหรับคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมแม่เอง ขอแนะนำว่าไม่ควรนอนให้นมลูกนะคะ เพราะบางทีคุณแม่อาจจะเหน็ดเหนื่อย จากการไม่ได้หลับมาทั้งคืนเกิดเผลอหลับไป เต้านมอาจจะปิดทับจมูกของเด็กทำให้หายใจไม่ออกถึงแก่ชีวิตได้ เพราะเด็กในช่วงอายุแรกเกิดถึง 3 เดือน ยังไม่มีแรงดิ้น ไม่มีแรงผลัก ค่ะ และเด็กที่ชอบแหวะบ่อยๆ หรืออาเจียนบ่อยๆ คุณแม่ควรให้เด็กนอนตะแคงหรือนอนคว่ำจะเป็นท่าที่ดีที่สุดค่ะ เพราะการที่ให้เด็กนอนหงาย บางทีแหวะนมออกมาเป็นก้อนทำให้ปิดหลอดลมได้

ช่วงอายุเด็ก 2-3 เดือน อุบัติเหตุที่มักเกิดในช่วงอายุนี้ก็คงจะเป็นการตกเตียง ตกจากที่นอน ถึงแม้ว่าเด็กยังไม่สามารถพลิกคว่ำได้ คลานก็ยังไม่ได้ แต่เด็กเริ่มมีแรงถีบ อาจจะทำให้ลื่นตกเตียงได้

ช่วงอายุเด็ก 3-4 เดือน ควรระวังเรื่องของเล่น เพราะเด็กช่วงอายุนี้จะชอบจับและแน่น
บางทีคุณพ่อคุณแม่ให้ของเล่นเด็กให้กำเล่น เด็กอาจจะแกว่งไปมาฟาดหน้าเป็นแผลได้ และก็อย่าวางของชิ้นเล็กๆ ไว้ใกล้เด็กนะคะเพราะจะทำให้เด็กหยิบกลืนติดคอได้ ของเล่นเด็กก็ไม่ควรซื้อราคาแพงค่ะ เพราะส่วนใหญ่เด็กจะสนใจของเล่นที่อยู่ในบ้านมากกว่า เช่น ช้อน จาน ชาม กะลัง หม้อ ฯลฯ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็อดไม่ได้ที่จะซื้อ  อาจจะเข้าข่ายที่ว่าแม่ชอบ ลูกต้องชอบ

ช่วงอายุเด็ก 4-6 เดือน อุบัติตกเตียงก็ยังคงมีเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ บางทีคุณพ่อคุณแม่เผลอลืมยกที่กั้นเตียงขึ้น หรืออาจไม่ลืมแต่บางทีคิดว่าแป๊บเดียว ไม่เป็นไร  แป๊บเดียวเดี๋ยวมา หยิบของใกล้แค่นี้ แค่หันหลังเอง หันกลับมาอีกที ลูกหล่นตกเตียง  คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรประมาณแม้แต่วินาทีเดียว เพราะนั่นทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กได้รับบาดเจ็บมาก พื้นห้องหรือบริเวณเตียงควรปูแผ่นรองกันกระแทก หรือปูผ้าห่ม ปูพรม ด้วยนะคะ เผื่อตกลงมาช่วยรับแรงกระแทกหรือตกแล้วไม่ฟาดพื้นโดยตรง

ช่วงอายุเด็ก 6-7 เดือน เด็กที่อยู่ในช่วงนี้ จะสามารถพลิกตัวได้แล้ว ถึงแม้จะยังคลานไม่ได้ อุบัติเหตุที่มักเกิดขึ้นก็คงจะเป็นความประมาทของคุณพ่อคุณแม่ หรือคนในบ้าน ในเรื่องการวางสิ่งของที่จะเป็นอันตราย เช่น แก้วชา กาแฟ กระติกน้ำร้อน เครื่องใช้ไฟฟ้า ของเล่นชิ้นใหญ่ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ หรือแม้แต่ของชิ้นเล็กๆ เพราะช่วงอายุนี้เด็กจะชอบหยิบ จับ สิ่งของเข้าปากอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นควรเก็บให้มิดชิด และพ้นจากมือเด็ก

ช่วงอายุเด็ก 7-9 เดือน เด็กบางคนเริ่มคลานได้แล้ว และคลานได้อย่างว่องไว จะไปไหนก็ได้ตามใจตัวเอง ควระวังเรื่องการวางกระติกน้ำร้อน เตารีด สายไฟ ปลั๊กไฟ เก็บให้มิดชิดเรียบร้อย และพวกตู้เสื้อผ้า ลิ้นชัก ประตู ควรล็อคปิดให้สนิท พัดลมควรหาที่ครอบพัดลมป้องกันเด็กเอานิ้วแหย่เพราะเด็กจะชอบในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ให้เล่น ถึงแม้จะมีของเล่นเยอะแยะสักเพียงใดก็ตาม

ช่วงอายุเด็ก 9-12 เดือน เด็กที่อยู่ในช่วงอายุนี้ บอกได้คำเดียวเลยว่า อย่าให้คลาดสายตา เพราะเด็กเริ่มเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่ว ว่องไว เด็กบางคนเกาะยืนได้แล้ว หรือบางคนก็เดินได้แล้ว และเริ่มใช้มือได้อย่างอิสระ การเก็บของ การวางของ ทางขึ้นบันได ประตู ตู้เสื้อผ้า ลิ้นชัก ฯลฯ ความสะอาดบริเวณภายในบ้าน และนอกบ้าน ต้องตรวจดูให้แน่ใจว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะเกิดอันตรายกับเด็กได้