ลูกขี้หงุดหงิด

ลูกขี้หงุดหงิด รับมืออย่างไร

ลูกขี้หงุดหงิด อารมณ์ร้อน โมโหง่าย กรีดร้อง และไม่สามรถควบคุมตัวเองได้ พฤติกรรมเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นกับเด็กอายุประมาณ 2 – 4 ขวบ หรือที่เรียกว่าวัยทอง 2 ขวบ และมักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น วัยเหล่านี้เป็นวัยที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง มีความต้องการคิดหรือกระทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ เมื่อไม่ได้อย่างที่ต้องการก็มักจะแสดงพฤติกรรมต่อต้านคุณพ่อคุณแม่นั่นเองค่ะ โดยพฤติกรรมหรือการกระทำดังกล่าวอาจเกิดขึ้นจากคุณพ่อคุณแม่หรือคนรอบตัว ที่แสดงพฤติกรรมหรือเป็นคนขี้โมโห เจ้าอารมณ์ เวลาไม่พอใจหรืไม่ได้ดั่งใจต้องการก็จะทำทำลายข้าวของ ส่งเสียงดัง เป็นต้น ทำให้ลูกแสดงอารมณ์หรือเลียนแบบพฤติกรรมเดียวกันค่ะ และในบางครั้งเกิดจากการที่คุณพ่อคุณแม่อาจปล่อยให้ลูกได้แสดงอารมณ์อย่างเต็มที่ โดยไม่มีการตักเตือนหรือรับมือไม่ถูกต้อง จนท้ายที่สุดการแสดงพฤติกรรมหรืออารมณ์รุนแรงชองลูกนั้นจนกลายเป็นเรื่องปกติและกลายเด็กขี้หงุดหงิดง่ายค่ะ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรที่จะจัดการกับพฤติกรรมดังกล่าวของลูกตั้งแต่อายุยังเล็กค่ะ 

วิธีรับมือลูกขี้หงุดหงิด

  • ควรเริ่มจากคุณพ่อคุณแม่ สาเหตุส่วนหนึ่งมักเกิดจากคุณพ่อคุณแม่ที่ทำให้ลูกเป็นเด็กขี้หงุดหงิด อารมณ์ร้อน ฯลฯ เนื่องจากการปล่อยให้ลูกแสดงพฤติกรรมรุนแรงหรือระบายอารมณ์ได้เต็มที่ โดยไม่รู้ว่าการแสดงพฤติกรรมดังกล่าวส่งผลอย่างไรบ้าง ทำให้ลูกคิดว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องปกติสามารถทำได้ จึงเกิดพฤติกรรมการเลียนแบบนั่นเองค่ะ ดังนั้นหากเป็นไปได้คุณพ่อคุณแม่ควรต้องพยายามระงับอารมณ์ ไม่ควรทะเลาะกันหรือแสดงพฤติกรรมรุนแรงต่อหน้าลูกค่ะ
  • ควรงดและหลีกเลี่ยงให้ลูกดูสื่อที่มีความรุนแรง เนื่องจากเด็กในช่วงวัยดังกล่าวส่วนใหญ่มักจะเลียนแบบพฤติกรรมมาจากสิ่งที่เห็นเป็นประจำ และการปล่อยให้ลูกดูสื่อที่แสดงออกถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้ลูกน้อยกลายเป็นเด็กก้าวร้าว อารมณ์ร้อนได้ค่ะ เพราะเด็กๆยังไม่สามารถแยกออกว่าอันนี้ควรทำตามหรือไม่ เป็นสิ่งที่ดีหรือเปล่าค่ะ ดังนั้นก่อนที่จะยื่นอะไรให้ลูกดูควรคัดกรองสักนิดค่ะ หรือนั่งดูข้างๆลูกจะดีกว่าค่ะ
  • หยุดตามใจลูกจนเกิดการเคยชินและเสียนิสัย บ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองยอมตามใจลูก เพราะเห็นว่าลูกยังเล็ก คงไม่เป็นอะไรหรอก หรือบ้างครั้งการที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกได้รับสิ่งดีๆที่เมื่อก่อนไม่มี รวมถึงการใจอ่อนสงสารเมื่อเห็นว่าเวลาลูกร้องก็กลัวลูกจะหายใจไม่ออก สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เป็นการเคยชิน เพราะเขารู้แล้วว่าทำอย่างไรถึงจะได้สิ่งที่ตนเองต้องการ ดังนั้นวิธีการรับมือที่ดีที่สุด คือคุณพ่อคุณแม่ต้องใจแข็งไม่รับรู้หรือนิ่งเฉย เมื่อลูกแสดงอาการโมโหออกมาควรเดินเลี่ยงไปที่อื่น แต่ถ้ากรณีอยู่นอกบ้านคนเยอะๆอาจพาลูกเลี่ยงจากตรงนั้นค่ะ
  • การฝึกให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเอง อดทนรู้จักรอคอยถึงแม้ว่าอารมณ์โมโหเป็นเรื่องปกติของคนทุกคน หากคุณพ่อคุณแม่ฝึกให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์ได้ตั้งแต่เล็กๆจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับลูกเมื่อโตขึ้น ซึ่งจะทำให้ลูกไม่ต้องเป็นเด็กขี้หงุดหงิด โมโหง่ายหรือเป็นเด็กเอาแต่ใจค่ะ วิธีฝึกการควบคุมอารมณ์ของลูกคุณแม่สามารถเริ่มจาก เมื่อลูกหงุดหงิดหรือโมโหให้ลูกสูดลมหายใจลึกๆ 10 ครั้ง และเมื่อลูกทำได้ควรกล่าวคำชมเชยให้กำลังใจลูกที่สามารถจัดการอารมณ์ตนเองได้เพื่อให้ลูกรู้สึกภูมิใจในตัวเองค่ะ
  • เมื่อลูกกรีดร้องคุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามระงับอารมณ์ของตัวเองและลูก ซึ่งอาจจะใช้วิธีการจับที่ตัวลูกไว้จนกว่าที่นิ่งขึ้น แล้วพูดกับลูกด้วยความใจเย็นให้ลูกรู้ว่าคุณเข้าใจในสิ่งที่ลูกโกรธอยู่ พร้อมทั้งบอกเรื่องของการแสดงอารมณ์และพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา ทำให้คุณรู้สึกอย่างไร เช่น อับอายหรือโกรธเช่นเดียวกับลูกค่ะ ที่สำคัญไม่ควรใช้การตีเพื่อให้ลูกหยุดกรีดร้อง ซึ่งจะทำให้ลูกร้องไห้และต่อต้านคุณมากขึ้นค่ะ

การแก้ปัญหาลูกขี้หงุดหงิด โมโหง่าย ควรเริ่มจากตัวคุณพ่อคุณแม่และคนรอบตัว การสร้างภูมิคุ้มกันทางร่างกาย พฤติกรรมการแสดงออก อารมณ์ที่ดีให้กับลูกน้อย เพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจให้กับลูกน้อยเมื่อโตขึ้นค่ะ