วัคซีนบีซีจีคืออะไร

            วัคซีนป้องกันวัณโรคหรือวัคซีนบีซีจี (B.C.G. ย่อมาจาก Bacille Calmette Guerin) เป็นชื่อที่ได้ตามผู้ผลิต คือ Albert Calmette และ Calmille Guerin เป็นผู้ผลิตวัคซีนบีซีจีขึ้น ผลิตที่สถาบันปาสเตอร์ ประเทศฝรั่งเศส โดยใช้เชื้อ Mycobacterium bovis เป็นเชื้อที่ได้จากฝีที่เต้านมของวัว ซึ่งคนที่เพาะเชื้อนี้ขึ้นมาคือ Nacard หรือถูกเรียกว่า Nocard strain

            การผลิตวัคซีนบีซีจี ใช้เวลานานถึง 13 ปี โดย Calmette และ Guerin ได้เพาะเชื้อหลายๆครั้งในอาหารเพาะเชื้อ จนทำให้ Nocard strain อ่อนฤทธิ์ลง และลดความรุนแรง (virulence) ลงมาก ซึ่งทำการทดลองกับสัตว์หลายชนิดแล้วพบว่าไม่ก่อให้เกิดอันตรายและไม่ทำให้เกิดวัณโรคในสัตว์

           เมื่อปี ค.ศ.1923 เกิดวัณโรคระบาดหนัก Calmette จึงได้ทำเป็นวัคซีนทดลองใช้ป้องกันวัณโรคในคนเป็นครั้งแรก โดยให้ทางปากแก่เด็กแรกเกิดที่แม่ตายจากวัณโรค ปรากฎว่าเด็กไม่ได้รับอันตรายและไม่เป็นวัณโรค จึงได้ให้วัคซีนบีซีจีกับเด็กทารกแรกเกิดจากแม่ที่ป่วยเป็นวัณโรครุนแรงคนอื่นๆ ต่อไปต่อมาได้มีการดัดแปลงการใช้วัคซีนโดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง  ฉีดเข้าในผิวหนัง และปลูก ตามลำดับแต่วิธีที่นิยมใช้ที่สุดคือ การฉีดเข้าในผิวหนัง (Intracutaneous injection) ซึ่งทำให้เกิดผลแทรกซ้อนน้อยกว่าวิธีฉีดเข้าใต้ผิวหนัง

           ประเทศไทยเริ่มผลิตวัคซีนบีซีจีใช้เอง เมื่อพ.ศ.2496 หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานตึกมหิดลวงศานุสรณ์ ให้แก่สถานเสาวภา สภากาชาดไทยเป็นสถานที่ค้นคว้าและทดลองผลิตวัคซีนบีซีจีขึ้นเองเพื่อใช้ภายในประเทศ 

เด็กจำเป็นต้องฉีดวัคซีนบีซีจี หรือไม่

            เนื่องจากอัตราการเกิดวัณโรคในประเทศไทยยังสูงอยู่ จึงกำหนดให้เด็กแรกเกิดทุกคนต้องได้รับวัคซีนบีซีจี และให้ฉีดในทารกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อเอชไอวีได้ โดยให้ฉีดเพียงครั้งเดียวเท่านั้นพอ ภูมิคุ้มกันจะเกิดหลังจากฉีดไปแล้ว 4-6 สัปดาห์ และอยู่ไปได้นานประมาณ 10 ปี และสามารถป้องกันวัณโรคได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะโรคเยื่อหุ้มสมองในเด็ก

ชนิดของวัคซีนบีซีจี (B.C.G.)

            วัคซีนบีซีจีที่ใช้ในประเทศไทยเป็นวัคซีนชนิดผงแห้ง (freeze-dried)ที่ยังไม่ผสม จะเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศา หรือช่องแช่แข็งจะเก็บได้นานถึง 2 ปี นับจากวันผลิต เก็บโดยไม่ให้ถูกแสงแดด เพราะถ้าถูกความร้อนและแสงจะทำให้เชื้อบีซีจีที่อยู่ในวัคซีนตายได้ และทำให้เสื่อมคุณภาพ แหล่งวัคซีนในประเทศจะได้มาจาก 3 แหล่ง คือ

  1. จากสภากาชาดไทย (สายพันธุ์ Tokyo 172) ใช้สำหรับป้องกันวัณโรค           
  2. จากบริษัทมาสุ นำเข้ามาจาก Serum Institute of India (สายพันธุ์ Russian) ใช้สำหรับป้องกันวัณโรค
  3. จากบริษัท Sanofi Pasteur เป็น BCG ใช้สำหรับรักษาโรคมะเร็ง

วิธีการฉีดวัคซีนบีซีจี (B.C.G.)

            การฉีดวัคซีนบีซีจี ให้ฉีดเข้าในหนังบริเวณต้นแขน ไม่ควรฉีดบริเวณสะโพก ต้นขา หรือฝ่าเท้า เพราะการดูแลจะทำได้ยากกว่า

อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีนบีซีจี (B.C.G)

            หลังจากฉีดวัคซีนบีซีจีเข้าในหนัง น้ำยาจะดันผิวหนังให้โป่งนูนและหลังฉีดประมาณ 1 ชั่วโมง ผิวหนังที่นูนจะยุบหายไปจะเห็นเป็นสีแดงๆ ตรงบริเวณรอยเข็มแทงอีก 2-3 วัน

            ประมาณ 2-3 สัปดาห์ จะเห็นเป็นรอยนูนแดงขนาดประมาณ 5-15 มิลลิเมตร ในตำแหน่งที่ฉีด ตุ่มจะโตขึ้นช้าๆ กลายเป็นฝีเม็ดเล็กๆ และมีหัวหนอง  จะเริ่มแตกออกเป็นแผล ต่อมาตรงกลางของรอยนูนที่แดงจะนุ่มลง แผลนี้ก็จะเป็นๆ หายๆ อยู่ประมาณ 3-4 สัปดาห์ ก็จะแห้งหายไปเอง ส่วนมากแผลหายตกสะเก็ดใช้เวลาประมาณ 4 เดือน

            อาการบวมแดงที่ผิวหนังบริเวณที่ฉีดบีซีจี จะเกิดเป็นตุ่มนูนแดงในเวลา 24-48 ชั่วโมง อาการบวมแดงและขนาดปากแผลจะรุนแรงกว่าคนที่ไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน แต่ไม่เป็นอันตราย กรณีนี้เป็นในคนที่เคยได้รับเชื้อวัณโรคตามธรรมชาติหรือเคยได้รับวัคซีนบีซีจีมาก่อน เมื่อแผลแห้งสะเก็ดหลุด จะเป็นแผลวงกลมกว้างขนาดประมาณ 6-8 มิลลิเมตร

            อาการข้างเคียงของวัคซีนบีซีจีมีน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นอาการที่เกิดเฉพาะที่ คือ เป็นแผลหนองแต่หายเองได้ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงที่ฉีดอาจจะโตได้ จะพบได้บ่อยบริเวณรักแร้หรือไหปลาร้า ซึ่งจะมีขนาดเล็กๆ พอคลำได้ ขนาดจะเท่าเมล็ดถั่วเขียว

การดูแลรักษาแผล จากการฉีดวัคซีนบีซีจี (B.C.G.)

  1. หลังจากที่ฉีดวัคซีนบีซีจี ประมาณ 3-4 สัปดาห์ บริเวณแผลที่ฉีดวัคซีนบีซีจีจะเป็นๆ หายๆ ให้รักษาความสะอาดบริเวณที่ฉีด ไม่ต้องใส่ยาหรือปิดแผล          
  2. ใช้สำลีชุบน้ำเกลือ (Normal Saline Solution) หรือน้ำต้มสุก เช็ดที่แผลเบาๆ จนกว่าจะสะอาด และเช็ดด้วยแอลกฮอล์ รอบๆ แผลอีกครั้ง     
  3. ห้ามบ่ง ตุ่ม หนอง
  4. ถ้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงที่ฉีดวัคซีนบีซีจีอักเสบโตขึ้นและเป็นฝี ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

ห้ามฉีดวัคซีนบีซีจีให้กับใครบ้าง

  1. ห้ามฉีดวัคซีนบีซีจีในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงผู้ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
  2. หญิงตั้งครรภ์
  3. ผู้ที่เจ็บป่วยเฉียบพลัน
  4. มีแผลติดเชื้อหรือแผลไฟไหม้ในบริเวณที่จะฉีด
  5. กรณีถ้าหลังคลอดเด็กทารกยังมีปัญหาโรคอื่นๆ อยู่ ยังไม่ควรฉีดวัคซีนบีซีจี รอให้หายดีก่อนเมื่อกลับบ้านได้จึงให้วัคซีน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here