Newborn

5 โรค ควรระวังในเด็กแรกเกิด

5 โรค ควรระวังในเด็กแรกเกิด

สวัสดีค่ะ คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ทุกท่านค่ะ ลูกน้อยเปรียบเสมือนเป็นแก้วตาดวงใจเมื่อเกิดมาก็ย่อมปรารถนาให้ลูกมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ครบสามสิบสองค่ะ แต่การเจ็บป่วยสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกช่วงวัยแม้ว่าลูกน้อยจะเพิ่งเกิดก็ยังมีโอกาสเจ็บป่วยได้เช่นกันค่ะ ดังนั้นบทความนี้แอดมินจะพาคุณพ่อคุณแม่มารู้จักกับโรคที่พบบ่อยในเด็กแรกเกิดค่ะ

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด

ภาวะตัวเหลืองเด็กแรกเกิด

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดพบในเด็กทุกคนแต่อาจจะมากหรือน้อยบ้าง โดยมักจะพบในช่วง 3 – 5 วันแรกหลังคลอด ทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทารกที่มีกรุ๊ปเลือดไม่ตรงกับคุณแม่ ทารกที่เจ็บป่วยเป็นโรคหรือเกิดขึ้นจากการแตกของเม็ดเลือดแดง รวมถึงคุณแม่ที่ประวัติเกี่ยวกับบุตรที่ต้องได้รับการส่องไฟ เพื่อรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกมาก่อน และจะค่อยๆเหลืองน้อยลงจนหายไปได้เองค่ะ แต่ในบางกรณีที่มีภาวะตัวเหลืองผิดปกติหรือตัวเหลืองจากโรค ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตลูกน้อยว่า มีภาวะเหลืองมากหรือไม่ โดยการกดที่ผิวของลูกจะเห็นบริเวณที่กดเป็นสีเหลืองชั้นขึ้น ซึ่งอาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ตาขาวเป็นสีเหลือง เหงือกเหลือง ฝ่ามือหรือฝ่าเท้าเหลือง ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มซึ่งปกติปัสสาวะของเด็กแรกเกิดจะไม่มีสี เป็นต้น หากพบว่าลูกมีอาการดังกล่าวหรือสงสัยว่าลูกมีภาวะตัวเหลือง คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาลูกมาพบแพทย์เพื่อทำการประเมินและตรวจร่างกายซ้ำว่าเป็นอันตรายต่อทารกหรือไม่ค่ะ หากลูกมีภาวะตัวเหลืองมากในระดับที่เป็นพิษต่อเนื้อสมอง อาจก่อให้เกิดความผิดปกติทางสมองและระบบประสาท ทำให้ทารกมีอาการชัก หลังแอ่น แขนขามีอาการบิดเกร็ง พัฒนาการล่าช้า ระดับสติปัญญาลดลง ฯลฯ และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ค่ะ

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด คือ ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื้อต่างๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ และเป็นหนึ่งโรคที่พบบ่อยในทารกแรกเกิดเช่นกันค่ะ โดยมักพบอาการที่ทำให้สงสัยว่าอาจมีโรคหัวใจพิการ ซึ่งอาจตรวจไม่พบหรือแสดงอาการชัดเจนในช่วงหลังก็ได้ค่ะ เช่น ริมฝีปากเขียว มีภาวะซีดแบบเฉียบพลัน ตัว/มือและเท้าเย็น หายใจแรงและเร็ว ซี่โครงบาน หน้าอกบุ๋ม จมูกบาน ดูเหนื่อย ดูดนมไม่นานก็หยุดเป็นพักๆ ในทารกบางรายแพทย์อาจตรวจพบว่ามีเสียงหัวใจผิดปกติ หรือมีโรคหัวใจตั้งแต่ก่อนออกจากโรงพยาบาล โรคหัวใจพิการแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • หัวใจพิการชนิดเขียว เกิดจากความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดที่เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทำให้มีเลือดดำปนอยู่ในเลือดแดงที่ไปเลี้ยงร่างกาย ทำให้เด็กเกิดภาวะขาดออกซิเจนผิวจึงมีสีเขียวคล้ำม่วง ซึ่งจะเห็นได้ขัดเจนขณะร้องหรือดูดนม เหนื่อยง่าย และอาจมีความผิดปกติอื่นๆร่วมด้วย
  • หัวใจพิการชนิดไม่เขียว เกิดจากความผิดปกติในโครงสร้างของระบบหลอดเลือดและหัวใจ แต่ไม่มีการผสมกันของเลือดดำและเลือดแดงจึงไม่มีอาการเขียว โดยความผิดปกติอาจเกิดที่ผนังกั้นหัวใจมีรูลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท(รั่ว) หรือเปิดไม่กว้างเท่าปกติ(ตีบ) หรือหลอดเลือดตีบหรือเกินปกติ เป็นต้น

ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด

ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์

ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แต่กำเนิด คือ ภาวะที่ร่างกายสร้างฮอร์โมนชื่อ ไทรอยด์ ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายตั้งแต่แรกเกิด ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะปัญญาอ่อน เนื่องจากฮอร์โมนนี้เป็นฮอร์โมนที่จำเป็นต่อพัฒนาการของสมองโดยเฉพาะในช่วง 3 ขวบปีแรก จึงมีความสำคัญกับเด็กมากค่ะ เด็กแรกเกิดในประเทศไทย จะพบราวๆ อัตราส่วน 1 : 3,000 ในพื้นที่ทั่วไป โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการบริโภคแร่ธาตุไอโอดีนน้อย และอัตราส่วน 1 : 1,900 ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรคนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันได้ค่ะ โดยคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีแร่ธาตุไอโอดีนให้เพียงพอ หลังจากคลอดแล้วควรทำการตรวจเลือดทารกก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาล ปัจจุบันโรงพยาบาลเกือบทุกแห่งทำการตรวจคัดกรองภาวะดังกล่าว หากพบว่ามีความน่าสงสัยจะต้องรีบพาทารกกลับมาตรวจซ้ำและทำการรักษาในทันที เพื่อลดความเสี่ยงหรือป้องกันต่อภาวะปัญญาอ่อน

ภาวะติดเชื้อในทารกแรกเกิด

ภาวะติดเชื้อในทารกแรกเกิด

ภาวะติดเชื้อในทารกแรกเกิดพบบ่อยในเด็กแรกเกิด เนื่องจากทารกแรกเกิดยังมีภูมิคุ้มกันหรือภูมิต้านทานต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อย ทำให้มีความเสียองต่อการติดเชื้อได้ง่ายและลุกลามไปยังอวัยวะสำคัญ เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด โรคเยื่อหุ้มสมอง ปอดอักเสบ ทารกที่มีภาวะติดเชื้ออาจมีอาการแสดงได้หลายอย่าง เช่น มีอาการซึม นอนนิ่ง ไม่ค่อยขยับแขนขาหรือร้อง ดูดนมน้อย หายใจเร็วผิดปกติหรือหยุดหายใจจนตัวเขียวหรือซีด ในบางรายอาจมีอาการเกร็งกระตุก ในกรณีที่มีภาวะติดเชื้อรุนแรงอาจทำให้ความดันเลือดต่ำหรือถึงกับช็อกและเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากท่านสังเกตเห็นอาการผิดปกติดังกล่าว ควรรีบนำทารกมาพบแพทย์เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาตามความเหมาะสมค่ะ

ภาวะลำไส้ขาดเลือดจากการบิดขั้ว

ภาวะลำไส้ขาดเลือดจากการบิดขั้ว

ภาวะลำไส้ขาดเลือดจากการบิดขั้ว คือ ภาวะที่ไม่มีเลือดมาเลี้ยงผนังลำไส้ เนื่องจากการจัดเรียงตัวของลำไส้ผิดปกติแต่แรกเกิดเป็นภาวะที่พบไม่บ่อยนัก ในช่วงแรกจะไม่แสดงอาการที่เด่นชัดเด็กจะปกติดีทุกอย่างเมื่อแรกเกิด แต่ต่อมามีอาการตัวซีด อาเจียน ท้องอืด ถ่ายเป็นเลือดหรือสีน้ำหมาก หากปล่อยไว้ทารกจะมีภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ค่ะ คุณพ่อคุณแม่หากพบว่าลูกมีภาวะดังกล่าวควรรีบนำทารกมาพบแพทย์เพื่อให้การตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องต่อไปค่ะ โดยการผ่าตัดอย่างรีบด่วนเพื่อไม่ให้ลำไส้ขาดเลือดจนไม่สามารถแก้ไขได้ค่ะ

โรคที่แอดมินกล่าวข้างต้นเป็นที่มักพบในเด็กแรกเกิด เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรต้องหมั่นสังเกตลักษณะและอาการของลูกอยู่เสมอ หากพบอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ทักท่วงทีค่ะ รวมถึงการเอาใจใส่และเลี้ยงดูเพื่อให้ลูกน้อยเติบโตมามีชีวิตมีชีวิตที่ดีและสุขภาพแข็งแรง เพราะสุขภาพของลูกเป็นสิ่งสำคัญ อาจส่งผลต่อการพัฒนาการของลูกน้อยในอนาคตได้ค่ะ