ไข้ไทฟอยด์ในเด็ก

ไข้ไทฟอยด์ในเด็ก

ไข้ไทฟอยด์เป็นโรคที่ร้ายแรงและบางครั้งอาจถึงแก่ชีวิตได้ค่ะ ไข้ไทฟอยด์เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Typhi (S. Typhi) เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งในตระกูล Salmonella ซึ่งเป็นสาเหตุของอาหารเป็นพิษ แบคทีเรียเหล่านี้อาศัยอยู่ในร่างกายและถูกขับออกทางปัสสาวะหรืออุจจาระ ไข้ไทฟอยด์พบได้ทั่วไปโดยเฉพาะกับเด็ก และเป็นโรคที่สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ค่ะ โดยจากการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียในน้ำ อาหารที่รับประทานเข้าไป หรือจากการสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อนี้

สาเหตุของไทฟอยด์ในเด็ก

ไทฟอยด์เป็นโรคติดเชื้ออย่างรุนแรงซึ่งแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Typhi โดยสามารถรับเชื้อแบคทีเรียผ่านการบริโภคอาหารและน้ำที่ไม่ถูกสุขลักษณะหรือการเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสมมีการปนเปื้อนเชื้อ รวมถึงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ที่ป่วยที่มีเชื้อแบคทีเรียนำไปสู่โรคไทฟอยด์ในเด็กค่ะ

อาการไทฟอยด์ในเด็ก

ไทฟอยด์จะมีระยะของการฟักตัว 1 ถึง 2 สัปดาห์หลังจากได้รับเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว ซึ่งโดยทั่วไปจะมีอาการของไทฟอยด์ในช่วง 3 ถึง 4 สัปดาห์จากการรับเชื้อแบคทีเรีย โดยมีอาการของโรคดังนี้ เริ่มต้นจากมีไข้ต่ำและเพิ่มสูงขึ้นในทุกวันค่ะ ซึ่งมีไข้สูงได้ถึง 39-40 องศาเซลเซียส เด็กจะรู้สึกไม่สบายอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ไอแห้ง ปวดท้อง ปวดเมื่อยตามร่างกาย อาการปวดท้อง ท้องบวม อาจมีอาการท้องเสียหรือท้องผูก เบื่ออาหารน้ำหนักลด และมีผื่นขึ้นบริเวณหน้าท้องหรือหน้าอกค่ะ การรักษาไข้ไทฟอยด์ในเด็ก โดยทั่วไปแพทย์จะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ

ภาวะแทรกซ้อนของไข้ไทฟอยด์

หากไข้ไทฟอยด์ไม่ได้รับการรักษาซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนและอาจถึงแก่ชีวิตได้ค่ะ ได้แก่ เลือดออกในลำไส้และกระเพาะอาหาร ระบบย่อยอาหารหรือลำไส้เป็นรูทะลุ โรคหลอดลมอักเสบ การอักเสบของเยื่อบุหัวใจ ตับอ่อนอักเสบ เกิดปัญหาทางจิต เช่น อาการเพ้อคลั่ง อาการประสาทหลอน เป็นต้น

การป้องกันไทฟอยด์ในเด็ก

การรักษาสุขอนามัยสามารถป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไข้ไทฟอยด์ได้ค่ะ ดังนั้นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดในการปกป้องเด็กจากไข้ไทฟอยด์คือ การสอนเด็กให้รู้จักการรักษาสุขอนามัย เช่น การล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ ใช่ช้อนกลางเมื่อต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น ดื่มน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วย รวมถึงสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนค่ะ แต่ในปัจจุบันพบไข้ไทฟอยด์ในประเทศกำลังพัฒนาสุขอนามัยที่ไม่ดี แต่ในประเทศไทยพบได้น้อยมากๆค่ะเนื่องจากสุขอนามัยที่ดีขึ้น