โรคอีสุกอีใสในเด็ก

โรคอีสุกอีใส(chickenpox)

โรคอีสุกอีใส(chickenpox)
คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ว่า โรคอีสุกอีใส หรือโรคสุกใส เป็นอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีค่ะ เป็นโรคที่มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและติดต่อกันง่าย โดยการหายใจ ไอจามใส่กัน รวมถึงการสัมผัสตุ่มแผลของโรคโดยตรง รวมถึงการสัมผัสเสื้อผ้า สิ่งของ เครื่องใช้ต่างๆของผู้ป่วย
โรคอีสุกอีใสเกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลล่า(Varicella) มีระยะฟักตัวประมาณ 10 – 21 วันหลังจากได้รับชื้อไวรัส อาการเริ่มต้นผิวหนังมีผื่นคัน มีตุ่มนูนขนาดเล็กหรือตุ่มน้ำใสๆทั่วร่างกาย และผู้ป่วยจะเริ่มแพร่เชื้อได้ในช่วงประมาณ 5 วันก่อนขึ้นผื่น ยาวไปจนถึงเมื่อตุ่มน้ำแห้งแตกเป็นสะเก็ดหมดแล้ว

อาการโรคอีสุกอีใส
อาการโรคอีสุกอีใส,สาเหตุ

อาการโรคอีสุกอีใส เริ่มต้นด้วยการมีไข้ รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อยตามตัว เหนื่อยง่าย ปวดศีรษะ เจ็บคอ รู้สึกอ่อนเพลียช่วง 1 – 2 วันแรกหลังจากนั้นไข้จะลดลงอาการต่างๆดีขึ้น แต่จะมีผื่นคนเป็นจุดแดงๆขึ้นตามหน้า ลำตัว หลัง แขนขา รวมถึงอวัยวะเพศค่ะ และต่อจากนั้นผื่นแดงจะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใสๆ(ตุ่มหนองเมื่อเชื้อแบคทีเรีย) หรืออาจมีตุ่มพองทยอยเกิดต่อเนื่องได้อีกภายใน 3 – 6 วัน หลังจากนั้นตุ่มจะแห้งตกสะเก็ดภายใน 1 – 3 วัน และสะเก็ดแผลจะค่อยๆลอกจางหายไปกลับเป็นปกติภายในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ค่ะ

ภาวะแทรกซ้อนโรคอีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่ไม่รุนแรงและหายเองได้ โดยความรุนแรงของโรคขึ้นกับอายุและสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย รวมถึงการรักษาที่ไม่ถูกต้องก็อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ค่ะ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อ โรคปอดบวม โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มีปัญหาเลือดออก ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ค่ะ

การรักษาโรคอีสุกอีใสในเด็ก

การดูแลลูกเมื่อเป็นโรคอีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่หายได้เองและอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลตนเองได้ที่บ้าน ซึ่งการรักษาทั่วไปจะเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนค่ะ หากลูกมีไข้ให้คุณพ่อคุณแม่เช็ดตัวร่วมกับการทานยาลดไข้พาราเซตามอล ทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำมากๆและพักผ่อนให้เพียงพอ ทายาแก้คันเพื่อบรรเทาอาการคัน หลีกเลี่ยงการพาลูกไปในที่ชุมชมเพื่อลดการแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการของลูกด้วย หากพบว่าถ้ามีไข้สูง มีผื่นขึ้นตามตัวมาก มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้น เช่น แน่นหน้าอก หายใจหอบ ซึมลง ชัก ควรพาลูกไปพบคุณแพทย์ทันที เพราะอาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ค่ะ

การดูแลรักษาแผลอีสุกอีใสไม่ให้เป็นแผลเป็น
การป้องกันแผลอีสุกอีใสเพื่อไม่ให้เป็นแผลทางที่ดีที่สุดคือ ไม่ควรไปเกาหรือแกะตุ่มใส หากมีอาการคันให้ทายาแก้คัน ตัดเล็บให้สั้นเนื่องจากเชื้อแบคทีเรียที่มือและเล็บสามารถเข้าสู่กระแทรกเลือด อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆต่อมาได้ค่ะ แต่ถ้าแผลมีการติดเชื้อแบคทีเรียเป็นหนองแล้วสามารถทานยาปฏิชีวนะจะทำให้แผลตกสะเก็ดหลุดหายไปได้เองค่ะ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่ควรซื้อยามาทานเองค่ะ

การป้องกันโรคอีสุกอีใส
เนื่องจากโรคสุกใสสามารถติดต่อได้โดยการไอจามและหายใจรดกัน รวมทั้งสัมผัสกับผื่นของโรคหรือของใช้ส่วนตัวผู้ป่วย ดังนั้นการป้องกันที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยที่สุด คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส โดยเริ่มฉีดเข็มแรกได้ตั้งแต่อายุประมาณ 12-15 เดือน และฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 4 – 6 ปี สำหรับท่านไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคจะต้องฉีด 2 เข็มเช่นเดียวกันค่ะ โดยการฉีดวัคซีนเข็มแรกและเข็มที่ 2 ห่างกันประมาณ 28 วันค่ะ การฉีดวัคซีนเพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดโรคและลดความรุนแรงของโรคได้ค่ะ สำหรับสตรีมีครรภ์หรือหรือมีภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการฉีดวัคซีนค่ะ