โรคระบาดในเด็กที่พ่อแม่ควรเฝ้าระวัง
โรคระบาดในเด็กที่พ่อแม่ควรเฝ้าระวัง
โรคระบาดในเด็ก อันตรายที่พ่อแม่ควรเฝ้าระวังอาจทำให้เสียชีวิตได้ค่ะ เนื่องจากเด็กเล็กๆยังมีภูมิต้านทานที่ไม่ดีนัก ทำให้มีโอกาสของการติดเชื้อโรคระบาดได้ง่ายและมักมีภาวะแทรกซ้อนและมีอาการรุนแรงกว่าผู้ใหญ่ค่ะ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลเอาใจใส่เรื่องของสุขภาพลูกให้มากๆค่ะ วันนี้แอดมินจึงรวบรวมโรคระบาดในเด็ก พร้อมกับอาการและวิธีป้องกันที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเฝ้าระวังมาฝากค่ะ
โรคไข้หวัดใหญ่
ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัสไขหวัดใหญ่ชนิดเอและบีซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ เชื้อสามารถแพร่กระจากได้ง่ายติดต่อกันทางระบบทางเดินหายใจ พบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวเพราะอากาศที่เย็นลงและความชื้นทำให้โรคในกลุ่มไวรัสที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจนั้นเจริญเติบโตได้ดีกว่าปกติ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี มีมีอาการรุนแรงและเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ค่ะ
อาการ
เด็กที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่จะมีอาการไข้สูง คัดจมูก มีน้ำมูกใส เจ็บคอ ไอแห้งหรือไอมีเสมหะ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ ในบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีโรคแทรกซ้อนได้ค่ะ เช่น ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ หรือ ปอดอักเสบได้
การป้องกัน
ไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน ควรฉีดประมาณ 1 – 2 เดือนก่อนฤดูกาลระบาดของโรคทุกๆปี และสามารถฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป รวมถึงการฝึกให้ลูกใช้หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ รับประทานอาหารให้ถูกสุขอนามัย เลือกกินแต่อาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆจะดีที่สุด และหลีกเสี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยค่ะ
โรคไข้เลือดออก
ไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรคสามารถระบาดได้ทั้งปีแต่มักพบบ่อยในช่วงฤดูฝน เพราะมีโอกาสที่น้ำจะขังมากทำให้ยุงวางไข่และขยายพันธุ์ได้ดี มีโอกาสเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นทำให้เกิดภาวะเลือดออกในระบบทางเดินอาหารและมีภาวะช็อคได้
อาการ
เด็กที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก อาการของโรคมักคล้ายคลึงกับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ แต่มักไม่มีอาการหวัดร่วมด้วย หลังได้รับเชื้อแล้วจะมีไข้สูงเกิน 3 วันขึ้นไป กินยาลดไข้แล้วอาการไข้ลดลงเพียงเล็กน้อย ตาและหน้าจะเริ่มแดง มีความรู้สึกอ่อนเพลีย และปวดท้อง ปวดหัว ปวดกระบอกตา หรือปวดเมื่อยตามตัว และอาจตรวจพบจุดเลือดออกบริเวณผิวหนัง โรคไข้เลือดออกยังส่งผลให้เกิดภาวะตับอักเสบได้อีกด้วย
การป้องกัน
วัคซีนไข้เลือดออกกำลังอยู่ระหว่างการทดลอง คาดว่าจะนำมาใช้ในการป้องกันโรคอย่างแพร่หลายในเร็วๆนี้ค่ะ การป้องกันที่ดีที่สุดคุณพ่อคุณแม่ควรพยายามอย่าให้ยุงกัดลูก อาจให้ลูกสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด หรือใช้ผลิตภัณฑ์ไล่ยุง รวมถึงจำกัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณรอบๆบ้าน จัดบ้านให้โปร่งไม่มีมุมมืดอับทึบ เนื่องยุงลายชอบอยู่ในที่มืดและชื้น อาการที่ควรเฝ้าระวังเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อลูกมีไข้สูงซึ่งอาจทำให้ช็อคได้ หรือมีอาการซึม มือเท้าเย็นโดยเฉพาะเมื่อไข้ลดลง ควรพบแพทย์เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
โรคมือเท้าปาก
โรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส พบมากในช่วงหน้าฝนมีการแพร่ระบาดได้บ่อยตามสถานศึกษา โรงเรียนอนุบาลหรือเนิร์สเซอรี่ และพบมากในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สามารถติดต่อได้โดยการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระของผู้ป่วยโดยตรง หรือทางอ้อม เช่น ของเล่น ใช้ของร่วมกับผู้ป่วย น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ เป็นต้น หากพบว่าลูกป่วยโรคมือเท้าปากคุณแม่ต้องแจ้งทางโรงเรียนทันที เพื่อให้ปิดเรียนและทำความสะอาด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อค่ะ
อาการ
เด็กที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก จะมีไข้ต่ำ อ่อนเพลีย หลังจากนั้น 2 – 3 วัน จะมีแผลในช่องปากทำให้รับประทานอาหารและน้ำไม่ค่อยได้ โดยมีตุ่มแดงทั้งที่ลิ้น เพดานปากและกระพุ้งแก้มแล้วกลายเป็นตุ่มพองใสในที่สุด และพบตุ่มใสขึ้นที่ฝ่ามือฝ่าเท้าแต่ไม่มีอาการคัน จากนั้นอาการจะค่อยๆดีขึ้น และหายเป็นปกติภายใน 7 – 10 วัน โรคมือเท้าปาก อาจมีภาวะแทรกซ้อนทางสมองที่รุนแรงได้แต่พบน้อยมาก คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังอย่าให้ลูกมีไข้สูงเกินไป เพราะอาจทำให้ชักได้เสียงต่อภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาค่ะ
การป้องกัน
เนื่องจากไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคมือเท้าปาก คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นดูแลเรื่องความสะอาด อาหาร น้ำดื่ม รวมถึงของเล่นและของใช้ของลูกเป็นประจำ หากไม่จำเป็นไม่ควรให้ลูกเข้าไปอยู่ในสถานที่แออัด ควรมีกระติกน้ำหรือแก้วน้ำส่วนตัวให้ลูกไปใช้ที่โรงเรียน ปลูกฝังและฝึกให้ลูกล้างมือก่อนกินข้าว และใช้ช้อนกลางทุกครั้งค่ะ
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV
ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก มีอาการคล้ายกับไข้หวัด เช่น มีไข้ ไอ จาม เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้พ่อแม่แยกความแตกต่างของอาการหวัดและไวรัสได้ยากค่ะ ในบางรายอาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงจนถึงขั้นปอดอักเสบได้ค่ะ
อาการ
เด็กที่มีการติดเชื้อ RSV จะมีไข้ คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล หายใจเร็วมีเสียงครืดคราดร่วมด้วย หอบเหนื่อยและหายใจลำบาก ไออย่างรุนแรง มีเสมหะมาก มีเสียงหวีดในปอด (จากการที่เยื่อบุทางเดินหายใจบวมอักเสบและหลอดลมหดตัว) เนื่องจากเชื้อไวรัส RSV แพร่กระจายไปยังทางเดินหายใจส่วนล่างและทำให้เกิดโรคปอดบวมหรือโรคหลอดลมอักเสบได้ หากลูกมีโรคประจำตัวอย่างหอบหืด ภูมิแพ้ ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว โดยอาจมีอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆหรือหายใจล้มเหลวได้ค่ะ
การป้องกัน
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส RSV แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลรักษาสุขภาพเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เริ่มต้นด้วยการฝึกให้ลูกหมั่นล้างมือบ่อยๆ ก่อนหลังการรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการสัมผัส หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดและสถานที่ที่มีผู้ป่วยเป็นโรคไข้หวัด หากลูกป่วยควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติเพื่อป้องกันการไอจามแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นค่ะ
เพราะสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ หากพบว่าลูกป่วยควรพาไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องต่อไปคะ