โรคตากุ้งยิงในเด็ก
โรคตากุ้งยิงในเด็ก

โรคตากุ้งยิงในเด็ก
อุ้ย.. เธอเป็นตากุ้งยิง ไปแอบดูใครอาบน้ำหรือเปล่าเอ่ย… แอดมินเชื่อว่าคุณแม่น่าจะเคยได้ยินมาบ้าง เป็นเรื่องที่ถูกล้อกันขำๆในวัยเด็กๆ แต่คนที่ถูกล้อคงไม่ขำด้วย เพราะมีอาการเจ็บร่วมด้วย ตากุ้งยิงสามารถเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สามารถเกิดซ้ำได้อีกค่ะ

ตากุ้งยิง หรือเปลือกตาอักเสบ เกิดจาการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และโรคอื่นๆ มีลักษณะเป็นตุ่มฝีเล็กๆที่ขอบเปลือกตา บวม แดง คันและเจ็บตา มีขนาดประมาณ 0.2 – 1 เซนติเมตร เกิดขึ้นได้ทั้ง 2 ข้าง ทั้งเปลือกตาบนและล่าง แต่จะเกิดขึ้นที่ตาบนมากกว่า เนื่องจากมีต่อมต่างๆมากกว่าเปลือกตาล่างค่ะ โรคตากุ้งยิงในเด็กพบบ่อยในช่วงอายุ 4 – 10 ปี โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
1.ตากุ้งยิงชนิดหัวผุด หรือตากุ้งยิงภายนอก (External hordeolum) เป็นการอักเสบของต่อมเหงื่อ บริเวณโคนขนตา ทำให้เป็นตุ่มหนองบริเวณเปลือกตาที่อยู่ด้านนอก มักมีขนาดใหญ่ลักษณะชี้ออกด้านนอก
2.ตากุ้งยิงชนิดหัวหลบใน หรือตากุ้งยิงภายใน (Internal hordeolum) เป็นการอักเสบของต่อมไขมัน บริเวณเยื่อบุเปลือกตาคล้ายกับโรคตากุ้งยิงภายนอก แต่จะมีตุ่มหนองในเปลือกตาจะมองเห็นได้ก็ต่อเมื่อ ปลิ้นเปลือกตา มักมีขนาดใหญ่กว่าชนิดแรกและเจ็บมากกว่าโรคตากุ้งยิงภายนอก

สาเหตุของตากุ้งยิง
สาเหตุของตากุ้งยิงสามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยรอบข้าง เนื่องจากตากุ้งยิงเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และโรคอื่นๆ ซึ่งก็มีดังนี้

  • การไม่รักษาความสะอาด โดยเฉพาะการเอามือไปสัมผัสกับดวงตาโดยไม่ล้างทำความสะอาด โดยส่วนใหญ่แล้วจะพบได้จากผู้ที่ชอบขยี้ตา รวมถึงการใช้เครื่องสำอาง และใส่คอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่น หรืออยู่ในสถานที่ที่สกปรกเต็มไปด้วยเชื้อโรคหรือสิ่งสกปรกต่างๆ
  • มีไขมันเยอะ เนื่องจากต่อมไขมันบริเวณตากอาจเกิดการอุดตันได้ ทำให้สิ่งสกปรกไม่สามารถระบายออกมาได้จนทำให้เกิดการอักเสบของเปลือกตาได้
  • มีสุขภาพทั่วไปไม่ดี เช่น เป็นโรคเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ ขาดอาหาร อดนอน ฟันผุ
  • ร่างกายมีภาวะที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง พิษสุราเรื้อรัง หนังตาอักเสบเรื้อรัง รวมถึงรับประทานยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน

อาการตากุ้งยิง
โรคตากุ้งยิง เริ่มแรกจะมีอาการเคืองตา คันตา คล้ายมีอะไรเข้าตาและอาจมีน้ำตาไหลร่วมด้วย หลังจากนั้น 1 – 2 วัน ตาจะเริ่มบวมแดง เจ็บเล็กน้อย และมีตุ่มแข็งขึ้นมีหนองลักษณะเป็นหัวขาวๆเหลืองๆ หลังจากนั้นหนองแตก ขี้ตาออกมากผิดปกติ เปลือกตาบวม ปวดตา ตาแดง และยุบหายไปเองใน 1 สัปดาห์ ในเด็กบางคนหรือที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจมีไข้หรือเกิดการอักเสบกระจายบริเวณโดยรอบ และปวดมากขึ้นหรืออาการแย่ลง ไม่ดีขึ้นใน 1 – 2 สัปดาห์ ก้อนฝีอักเสบมีขนาดใหญ่มาก เลือดออก มีตุ่มน้ำที่เปลือกตา หรือแผลตกสะเก็ด รวมถึงสายตาผิดปกติ แพ้แสงแดด ควรรับพบแพทย์ทันทีค่ะ

การรักษาโรคตากุ้งยิง สามารถทำหลายวิธีดังต่อไปนี้

  • ปล่อยให้หายเองตามธรรมชาติ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการไม่รุแรงเท่านั้น ซึ่งโดยปกติจะหายเองใน 1-2 สัปดาห์
  • รักษาความสะอาดร่วมกับการประคบร้อน ในระยะแรก เปลือกตาอักเสบ แดง โดยที่ยังไม่มีตุ่มนูนหรือเพิ่งเริ่มขึ้นตุ่มฝีใหม่ๆ ยังไม่กลัดหนอง คุณแม่สามารถทำได้โดยการเช็ดตาของเด็กที่อักเสบด้วยน้ำอุ่นวันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น เช็ดจากหัวตาไปหางตา ประคบร้อนด้วยน้ำอุ่น โดยการใช้ผ้าสะอาดห่อปลายด้ามช้อนชุบน้ำอุ่นจัดๆ กดนวดบริเวณหัวฝี วันละ 4 ครั้ง ครั้งละ 20 – 30 นาที ทำให้หลอดเลือดขยายส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกยิ่งขึ้น ลดการอุดตัน หลังจากประคบตาทุกครั้ง ให้ใช้ยาป้ายตา หรือหยอดยาปฏิชีวนะตามคำแนะนำของผู้เชียวชาญ
  • การรับประทานยาหรือการใช้ยาหยอดตา ในกรณีนี้ควรปรึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของเภสัชกรค่ะ ถ้ายังไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์
  • การผ่าตัดเพื่อระบายหนอง ซึ่งเป็นหนึ่งวิธีที่ได้รับความนิยมมาก โดยแพทย์จะทำการผ่าลงไปบริเวณตุ่มที่เป็นหนองเพื่อระบายหนองออกมา วิธีนี้ในระหว่างการรักษานี้ควรหยุดพักทุกกิจกรรมที่จะต้องใช้สายตา เช่น ดูหนัง อ่านหนังสือ หรือแม้แต่ขับรถ และจะต้องปฏิบัติตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

การป้องกันโรคตากุ้งยิง
โรคตากุ้งยิงสามารถป้องกันได้ แม้ว่าจะไม่มีวัคซีนป้องกันโดยเฉพาะก็ตาม โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั่นเองค่ะ โดยการรักษาความสะอาดร่างกาย และเสื้อผ้าอยู่เสมอ ของใช้ที่ใช้สำหรับใบหน้า ควรทำความสะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะใบหน้า ดวงตา มือ ระวังอย่าให้เส้นยมแยงตา เลิกนิสัยชอบขยี้ตาไม่ใช้มือขยี้ตาบ่อยๆ หรือไม่ใช้ผ้าเช็ดหน้าที่ไม่สะอาดเช็ดตา ไม่ใช้สายตามากเกินความจำเป็นอย่าฝืนใช้สายตามากเกินไป เพราะจะทำให้ปวดกระบอกตา เมื่อยล้า แสบเคืองตาได้ เป็นต้น

เพราะดวงตาคืออวัยวะที่สำคัญ อย่าละเลยหรือมองข้ามอาการเล็กๆน้อยๆที่อาจลามเป็นเรื่องใหญ่ได้ค่ะ ดังนั้น หากพบว่าลูกเป็นตากุ้งยิง คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกมาพบคุณหมอแต่เนิ่นๆ และอย่าซื้อยามาหยอดเองด้วยนะคะ

ถ้าอ่านดูแล้ว ยังสงสัยเรื่องเกี่ยวกับดวงตา หรือปัญหาดวงตาของลูกน้อยที่บวมแดง ซึ่งจริงๆอาจจะมีจากหลายสาเหตุ คุณพ่อคุณแม่ลอง อ่านบทความต่อไปนี้เพิ่มเติมได้นะคะ

7 สาเหตุของอาการตาบวมในเด็ก
ลูกกระพริบตาบ่อยอันตรายหรือไม่
10 วิธีดูแลดวงตาลูกน้อย

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here