แพ้ถั่วในเด็ก

อาการแพ้ถั่วในเด็ก

อาการแพ้ถั่วในเด็กอันตรายใกล้ตัวกว่าที่คิด เนื่องจากถั่วมักเป็นส่วนผสมในอาหาร นม และขนมสำหรับเด็กหลากหลายยี่ห้อ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจยังไม่ทราบว่าลูกน้อยมีอาการแพ้ถั่วหรือไม่ ทำให้เผลอทานเข้าไปแล้วเกิดอาการแพ้ได้ค่ะ บทความนี้จะพาคุณพ่อคุณแม่มารู้จักกับอาการแพ้ถั่ว พร้อมวิธีการป้องกันค่ะ

การแพ้ถั่วพบได้บ่อยในเด็กที่มีอาการแพ้อื่นๆ เช่น ฝุ่นละออง ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ ผู้ป่วยโรคหอบหืด รวมถึงมีอาจมีอาการแพ้อาหารร่วมด้วย เช่น นม ไข่ ข้าวสาลี ฯลฯ สาเหตุของการแพ้สิ่งต่างๆนั้น ไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน อาจมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่ส่วนประกอบจากถั่วในช่วงอายุ 6-12 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายของเด็กยังมีระบบภูมิต้านทานต่ำ หรือเกิดจากพันธุกรรมเนื่องจากพบประวัติของคนในครอบครัวมีอาการแพ้เช่นกันค่ะ อาการแพ้ถั่วมักจะแสดงอาการทันที หรือหลังจากรับประทานถั่ว อาหารที่มีส่วนประกอบจากถั่วในหนึ่งชั่วโมง โดยจะแสดงอาการตั้งแต่เล็กน้อยถึงปานกลาง ได้แก่ คัน ผื่นแดง ปาก ลิ้น หรือตาบวมแดง คลื่นไส้ อาเจียนหรือท้องเสีย และแสดงอาการแพ้อย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ การทำงานของเลือดและหัวใจ ทำให้หายใจติดขัด แน่นหน้าอก ซึ่งมีโอกาสช็อกและเสียชีวิตได้ค่ะ ควรรีบพบแพทย์ทันที

การรักษาโรคภูมิแพ้ถั่วนั้น ปัจจุบันไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้นการรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น ซึ่งหากพบว่าลูกมีอาการแพ้ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงทีต่อไปค่ะ

การป้องกันการแพ้ถั่วที่ดีที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่ว หรืออาหารที่มีส่วนประกอบจากถั่ว ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรระวังเรื่องอาหารเป็นพิเศษ เพราะปัจจุบันนี้อาหารหรือขนมส่วนใหญ่มักมีถั่วเป็นส่วนผสมค่ะ อาทิเช่น นม ไอศกรีม คุกกี้ เค้ก ช็อคโกแลต เป็นต้น และสำหรับเด็กวัยเรียนคุณพ่อคุณแม่ควรแจ้งให้ทางโรงเรียนและครูประจำชั้นทราบ หรือการนำอาหารไปรับประทานเองเพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมจากถั่วค่ะ