ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด

ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด

ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด
ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดคืออะไร อันตรายต่อตัวลูกน้อยหรือไม่ ลองไปหาคำตอบพร้อมๆกันเลยค่ะ

ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด เป็นภาวะที่พบได้ทั่วไปในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอดหรือเด็กที่คลอดก่อนกำหนด เกิดขึ้นจากการแตกของเม็ดเลือดแดง ทำให้เกิดสารบิลิรูบินหรือสารที่ให้สีเหลืองในเลือดสูงเกินไป สารนี้จะอยู่ในกระแสเลือด โดยปกติสารนี้จะถูกนำเข้าไปสู่ตับแล้วขับออกจากร่างกายผ่านไปในทางเดินน้ำดี เข้าสู่ลำไส้และขับออกทางอุจจาระเป็นส่วนใหญ่ ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด จะพบได้ในเด็กแรกเกิดเกือบทุกคนและเมื่ออายุ 3-5 วัน จะค่อยๆเหลืองน้อยลงจนหายไปได้เองค่ะ แต่ในบางกรณีที่มีภาวะตัวเหลืองผิดปกติหรือตัวเหลืองจากโรค โดยสาเหตุของทารกตัวเหลืองจากความผิดปกติที่พบบ่อยได้แก่

  • ความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง เป็นภาวะที่ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงแตก ทำให้มีปริมาณบิลิรูบินในเลือดสูงขึ้น
  • เลือดของแม่กับลูกไม่เข้ากัน ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกมาก พบในแม่เลือดกรุ๊ป O และลูกเป็น กรุ๊ป A หรือ B หรือหมู่เลือดระบบอาร์เอชต่างกัน
  • ตับทำงานบกพร่อง เนื่องจากเด็กแรกเกิดการทำงานของตับยังไม่สมบูรณ์หรือโรคกรรมพันธุ์บางอย่างของตับ อาจทำให้ไม่สามารถกำจัดบิลิรูบินออกได้
  • การบกพร่องเอนไซม์ ส่งผลทำให้เกิดการสะสมของอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ
  • ภาวะไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) เด็กที่มีภาวะขาดไทรอยด์ เนื่องจากไม่มีต่อมไทรอยด์หรือต่อมไทรอยด์ทำงานบกพร่อง อาจส่งผลให้มีภาวะตัวเหลือง
  • สาเหตุอื่นๆ เช่น คลอดก่อนกำหนด การติดเชื้อ มารดาเป็นเบาหวาน ท่อน้ำดีอุดตันหรือถุงน้ำดีผิดปกติ ลำไส้อุดตัน และความผิดปกติต่างๆของการขับถ่ายสารสีเหลือง เป็นต้น

อาการตัวเหลืองในเด็ก
ภาวะตัวเหลืองและตาเหลืองในเด็ก เกิดขึ้นในเด็กแรกเกิด 2-3 วันแรกและเด็กที่คลอดก่อนกำหนด อาการจะเริ่มจากใบหน้าเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนและลามไปส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ลำตัว ท้อง แขน ขา และอาจมีสีเหลืองชัดขึ้นเมื่อใช้ปลายนิ้วกด รวมถึงมีอาการอื่นๆ เช่น ตาขาวเป็นสีเหลือง เหงือกเหลือง ฝ่ามือหรือฝ่าเท้าเหลือง ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มซึ่งปกติปัสสาวะของเด็กแรกเกิดจะไม่มีสี อุจจาระมีสีขาวซีดเหมือนสีชอล์ก คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ว่าลูกมีภาวะตัวเหลืองหรือไม่ โดยการกดที่ผิวของลูกจะเห็นบริเวณที่กดเป็นสีเหลือง ถ้าเห็นสีเหลืองเฉพาะใบหน้าและลำตัวถือว่าเหลืองไม่มากค่ะ แต่ถ้าลงมาที่ขาและเท้าถือว่าเหลืองมาก รวมถึงมีอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น มีไข้สูง ไม่ทานนม เซื่องซึม ตัวเหลืองขึ้นเรื่อยๆเหลืองนานกว่า 3 สัปดาห์ ควรรีบมาปรึกษาคุณหมอเพื่อตรวจร่างกายและเจาะเลือดตรวจระดับสารเหลืองในเลือดค่ะ

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้ เมื่อระดับของบิลิรูบินในเลือดสูงมาก บิลิรูบินจะเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อสมองและก่อให้เกิดความผิดปกติทางสมองและระบบประสาท จะบบว่าเด็กมีอาการซึม ดูดนมน้อยลง ตัวอ่อนปวกเปียก หรืออาจเกิดอาการเกร็งหลังแอ่น ชัก มีอาการไข้ เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เด็กทารกจะมีการเคลื่อนไหวผิดปกติของร่างกายและแขนขา พัฒนาการล่าช้า ระดับสติปัญญาลดลง ฯลฯ

วิธีการรักษาภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิด โดยปรกติเด็กที่มีภาวะตัวเหลืองแบบปกติทั่วไปสามารถหายเองได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ค่ะ แนวทางการรักษาทางการแพทย์เพื่อลดระดับสารบิลิรูบินในเลือดมีดังต่อไปนี้

  • การส่องไฟรักษา เป็นการใช้หลอดไฟชนิดพิเศษที่มีความยาวคลื่นแสงที่เหมาะสมกับการรักษาเท่านั้น เพื่อช่วยเปลี่ยนรูปร่างหรือโครงสร้างโมเลกุลของบิลิรูบินให้ร่างกายขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะหรืออุจจาระค่ะ
  • การเปลี่ยนถ่ายเลือดร่วมกับการส่องไฟ กรณีนี้แพทย์จะใช้วิธีนี้กับเด็กที่มีระดับบิลิรูบินในเลือดสูงมาก ซึ่งอาจจะเกิดการสะสมในเนื้อเยื่อสมอง หรือเริ่มแสดงอาการทางสมองเบื้องต้นแล้ว วิธีนี้เป็นการรักษาที่ช่วยให้ระดับบิลิรูบินในร่างกายลดลงเร็วขึ้นค่ะ
  • รักษาด้วยยา โดยการฉีดอิมมูโนโกลบูลินเข้าเส้นเลือด (IVIg)

ภาวะตัวเหลืองในเด็กแรกเกิดส่งผลร้ายต่อทารกได้ ซึ่งใช้เวลานานเป็นสัปดาห์กว่าอาการจะแสดงออกมา คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตลูกน้อยหากสงสัยว่าเด็กอาจมีภาวะตัวเหลือง ควรไปพบแพทย์ทันทีเพื่อการตรวจและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป