ผื่นแพ้ในเด็ก
ผื่นแพ้ในเด็ก

ผื่นแพ้ในเด็กปัญหากวนใจของคุณพ่อคุณแม่ เมื่อลูกน้อยมีผื่นขึ้นตามร่างกาย และเป็นที่มาของหลากหลายคำถามของคุณพ่อคุณแม่ ตุ่มแบบนี้เรียกว่าอะไรคะ มันจะหายไปเองได้ไหม และมีวิธีการรักษาอย่างไรคะ บทความนี้ทีมงาน thaichildcare ได้รวบรวมผื่นแพ้ต่างๆในเด็กมาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ  

ผื่นแพ้ในเด็ก

ผื่นที่เกิดขึ้นกับลูกของเรามีด้วยกันหลายรูปแบบ

Skin Rashes Types and Causes in Children

ผื่นแดง ETN (Erythema Toxicum Neonatorum)

เป็นผื่นแดงมีขนาด 1-3 เซนติเมตร มีตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนองอยู่ตรงกลาง ไม่ทราบสาเหตุของการเกิดผื่นชนิดนี้และพบได้ในทารกแรกเกิด ตามสำตัว แขนและขา เป็นภาวะที่เกิดขึ้นชั่วคราวโดยไม่อันตรายต่อเด็กและสามารถหายได้เองใน 1 สัปดาห์ค่ะ

Transient Neonatal Pustular Melanosis

มีลักษณะเป็นจุดสีแดงมีตุ่มน้ำใสหรือหัวหนอง บริเวณหน้า ตามลำตัว แขนและขา ผื่นชนิดนี้พบเฉพาะในทารกแรกเกิดเท่านั้น ไม่เป็นอันตรายและหายได้เอง ตุ่มน้ำใสหรือหัวหนองจะแตกออกภายใน 24-48 ชั่วโมง เมื่อตุ่มแตกแล้วจะเป็นขุยขาวๆบนพื้นผิวที่เข้มกว่าสีผิวปกติค่ะ แต่สีจะจางหายเป็นปกติภายใน 3 เดือนค่ะ

ผื่น Milia

มีลักษณะเป็นตุ่มเม็ดขาวๆ เหลืองๆ ลักษณะของมันคล้ายสิวแต่ไม่ใช่สิวค่ะ พบที่บริเวณหน้าผาก แก้ม จมูกของทารก และอาจจะพบที่ในช่องปาก เหงือก และกลางเพดานปากได้ด้วยค่ะ เกิดจากการตกค้างของสารเคอราติน (โปรตีนชนิดหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในหนังกำพร้า ผม เล็บ) ส่วนใหญ่หายเองภายใน 1-2 เดือน หากไม่หายหรือพบการกระจายมากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ช่วยในการวินิจฉัยและรักษาค่ะ อาจมีการติดเชื้อหรือโรคอื่นร่วมด้วยค่ะ

สิวฮอร์โมน (neonatal acne)

การเกิดสิวในทารกไม่ใช่โรคผิวหนังนะคะ แต่เป็นกลไกตามธรรมชาติของการผลิฮอร์โมน โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดสิวในเด็กค่ะ ซึ่งอาจสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศชายที่ค่อนข้างสูงไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมัน พบได้ตั้งแต่อายุ 3 สัปดาห์ อาจเป็นตุ่มแดงหรือตุ่มหนอง พบมากที่สุดที่ใบหน้าบริเวณแก้ม แต่อาจพบที่หนังศีรษะ โดยปกติแล้วสิวในเด็กทารากส่วนใหญ่จะหายได้เองใน 2 – 4 สัปดาห์ค่ะ ช่วงที่ทารกเป็นสิวคุณแม่ต้องรักษาความสะอาด เลือกใช้ผลิตที่อ่อนโยนป้องกันการระคายเคืองผิวค่ะ และไม่ควรทาโลชั่นหรือน้ำมันเพราะจะทำให้อุดตันรูขุมขนมากขึ้นค่ะ

ต่อมไขมันอักเสบ (seborrheic dermatitis)

หรือเรียกว่าเซ็บเดอร์ม เป็นโรคที่มีการอักเสบของผิวหนัง เป็นผื่นแดงมีสะเก็ดเหลืองของไขมันปกคลุม พบบ่อยที่หนังศีรษะ ใบหน้า หู คอ และบริเวณที่ใส่ผ้าอ้อม ส่วนใหญ่หายได้เองใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนค่ะ แต่ในบางรายที่มีอาการรุนแรงหรือมีการอักเสบเรื้อรังซึ่งอาจเกิดการติอเชื้ออื่นๆร่วมด้วยค่ะ ควรไปพบคุณหมอเพื่อการวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ

ตุ่มน้ำพอง sucking blister

มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำพองขอบริมฝีปากของทารกแรกเกิด อาจมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 – 8 มิลลิเมตร เกิดจากการที่ลูกดูดนมแรงๆ ซึ่งอาจพบตลอดขอบริมฝีปากบนล่างหรือพบเฉพาะที่กลางริมฝีปากบน หรือบริเวณหลังมือ ข้อมือ หรือนิ้วมือในบริเวณที่สามารถเอาเข้าปากลูกได้ค่ะ บางครั้งก็แตกแล้วตกสะเก็ด ส่วนใหญ่ไม่ต้องรักษาค่ะยกเว้นในกรณีที่มีติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนค่ะ ควรพาลูกน้อยพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยการให้ยาต้านแบคทีเรียค่ะ

ผดร้อน(miliaria)

พบบ่อยในทารกช่วงอายุ 1 – 4 สัปดาห์ ลักษณะเป็นตุ่มผดแดง ตุ่มใส และผดตุ่มหนองขนาดเล็กๆ บริเวณใบหน้า หนังศีรษะ และข้อพับ เกิดจากการพัฒนาของต่อมเหงื่อและผิวหนังของทารกยังไม่สมบูรณ์ ทำให้ท่อของต่อมเหงื่อเกิดการอุดตันและมีการรั่วของเหงื่อที่ผิวหนัง ส่วนใหญ่หายได้เองเมื่ออากาศเย็นสบาย ถ้าไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อใช้ยาและตรวจดูว่าตุ่มน้ำใสนั้นมีการติดเชื้อร่วมด้วยหรือไม่

นอกจากนี้ ยังพบผื่นที่เกิดจาการแพ้อาหาร นม หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆค่ะ ซึ่งถ้าหากคุณพ่อคุณแม่สงสัยและไม่แน่ใจว่าลูกน้อยของคุณเป็นผื่นประเภทไหน วิธีที่ดีที่สุดคือการพาลูกไปพบแพทย์ตรวจเพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมค่ะ

บทความที่เกี่ยวข้อง

3 ความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here