ปัญหาสุขภาพช่องปากเจ้าตัวน้อย
สวัสดีค่ะ วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันของเด็กๆกันค่ะ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรให้สำคัญใส่ใจในการดูแลช่องปากเล็กๆของเด็กค่ะ แอดมินได้รวบรวมปัญหาที่เกี่ยวกับสุขภาพปากและฟันที่พบได้บ่อยในเด็กๆมาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ
ปัญหาลิ้นเป็นฝ้าขาว
ลิ้นเป็นฝ้าขาว คือเชื้อราหรือเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปาก ลักษณะเป็นจุดหรือฝ้าสีขาว มักเกิดหลังจากเด็กกินนมโดยจุกนมที่ไม่ได้ฆ่าเชื้อหรือทำความสะอาด รวมถึงมีการสะสมของคราบนมที่เกาะอยู่ตามสันเหงือกและกระพุ้งแก้มซึ่งเป็นแหล่งอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้เกิดฝ้าขาวที่เพดานปาก ลิ้น และส่งผลให้ฟันผุได้ค่ะ
วิธีการดูแล : หลังจากดื่มนมทุกครั้งให้คุณแม่ใช้ผ้าสะอาดพันที่นิ้วของคุณแม่ จากนั้นให้เช็ดที่บริเวณลิ้น กระพุ้งแก้มและเพดานปากของลูกค่ะ ไม่ควรใช้ปัสสาวะของลูกเช็ดตามความเชื่อแบบโบราณนะคะ อาจทำให้เจ้าตัวเล็กติดเชื้อจากฉี่ได้นะคะ
ฟันน้ำนมขึ้นไม่ครบ 20 ซี่
ฟันน้ำนมจะมีทั้งหมดแค่ 20 ซี่เท่านั้นค่ะ โดยมีพัฒนาการตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ตอน 6 สัปดาห์ โดยการรวมตัวของเนื้อเยื่อเกิดเป็นหน่อฟัน อยู่ภายในบริเวณที่จะเจริญเป็นกระดูกขากรรไกรบน 10 หน่อ และขากรรไกรล่าง 10 หน่อ ฟันน้ำนมที่ขึ้นซี่แรกจะเป็นฟันหน้าล่างเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน และถัดจากนั้นประมาณ 2 เดือนฟันหน้าบนก็จะเริ่มปรากฎขึ้นมาในช่องปาก จนกระทั่งขึ้นครบ 20 ซี่เมื่ออายุประมาณ 2 ขวบ และถ้าหากหน่อฟันสร้างไม่ครบ 20 หน่อก็จะทำให้จำนวนฟันน้ำนมผิดปกติไป เด็กบางคนมีฟันน้ำนมไม่ครบ 20 ซี่หรือมีฟันแฝดคือ ฟัน 2 ซี่เชื่อมติดกันค่ะ คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องแก้ไขหรือรักษาแต่อย่างใดค่ะ แต่จำนวนฟันที่ไม่เท่ากันอาจมีผลต่อพื้นที่ที่กว้างไม่พอเพียงต่อขนาดของฟัน แท้ที่อยู่ข้างใต้ ทำให้ฟันแท้ขึ้นซ้อนหรือเกได้
ฟันน้ำนมผุ ตั้งแต่อายุไม่ถึง 1 ปี
โรคฟันผุ สามารถเกิดได้ตั้งแต่เด็กอายุก่อน 1 ปี และจะเริ่มผุมากขึ้นในช่วงอายุ 1-3 ปี เนื่องจากชั้นเคลือบฟันน้ำนมหนาประมาณครึ่งหนึ่งของฟันแท้เท่านั้น และยังมีแคลเซียม ฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบน้อยกว่าฟันแท้ การผุของฟันน้ำนมจึงลุกลามสู่โพรงประสาทฟันได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ฟันน้ำนมผุได้ง่ายกว่าฟันแท้ โดยที่ฟันน้ำนมซี่หน้าบนจะผุได้ง่ายกว่าฟันหน้าล่าง เนื่องจากการดูดขวดนม ซึ่งบริเวณฟันบนจะมีน้ำลายไหลผ่านน้อยกว่าฟันล่าง ทำให้น้ำลายไม่ได้ช่วยชะล้างคราบน้ำนม น้ำตาลที่ติดอยู่บนฟันออกไปได้ จึงทำให้เกิดการสะสมของน้ำตาลที่ฟันค่ะ ฟันกรามด้านบดเคี้ยวบริเวณซอกฟันระหว่างฟัน 2 ซี่ก็เป็นตำแหน่งที่ผุได้ง่ายเช่นกันค่ะ เพราะเป็นซี่ในสุดทำความสะอาดได้ยากค่ะ
วิธีการดูแล : การที่ฟันผุตั้งแต่อายุน้อยๆ จะส่งผลให้รักษายาก คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นใส่ใจเรื่องความสะอาดของช่องปากของลูก โดยเฉพาะการตรวจคราบจุลินทรีย์หรือขี้ฟันค่ะ รวมถึงการพาลูกไปพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจฟันเป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อจะได้รับความรู้ และแนวทางปฏิบัติในการดูแลสุขภาพในช่องปากอย่างถูกต้องค่ะ
เสียวฟัน
อาการเสียวฟันในเด็ก เนื่องจากมีฟันผุในระยะเริ่มแรกที่ชั้นเคลือบฟันและลุกลามไปสู่ชั้นเนื้อฟัน จึงเริ่มรู้สึกเสียวฟันหรือปวดฟันเวลารับประทานอาหารหรือดื่มน้ำเย็น ถ้าหากไม่อุดฟันซี่ที่ผุจะทำให้ลุกลามสู่โพรงประสาทฟันได้อย่างรวดเร็วและอาจเกิดการติดเชื้อ ประสาทฟันอักเสบร่วมกับการอักเสบของเหงือก บวมและมีตุ่มหนองบริเวณเหงือกเหนือฟันซี่ดังกล่าวค่ะ โดยจะมีอาการปวดฟันตลอดเวลา ทำให้ไม่อยากรับประทานอาหาร ร้องไห้งอแง และอาจมีไข้ร่วมด้วยค่ะ
วิธีการดูแล : คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นตรวจดูช่องปากของลูก หากพบอาการผิดปกติหรือพบว่าลูกเริ่มเสียวฟันควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อให้ประเมินการรักษาว่าควรอุดฟันหรือไม่ค่ะ
หลุมร่องฟันมีสีดำ
หลุมร่องฟันมีสีดำ อาจเป็นได้ทั้งฟันผุและหินปูนค่ะ โดยจะยังไม่มีอาการใดๆ ถ้าในฟันกรามน้ำนมที่ชั้นเคลือบฟันมีการเปลี่ยนเป็นสีดำบริเวณหลุมร่องฟันและไม่เป็นยังไม่ต้องรักษาค่ะ แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลรักษาความสะอาดแปรงฟันอย่างสม่ำเสมอเพื่อยับยั้งไม่ให้ลุกลามเป็นรูหรือผุทะลุโพรงประสาทฟัน และคอยตรวจดูว่ามีการลุกลามของหรือไม่ค่ะ
วิธีการดูแล : คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นตรวจดูฟันลูกอยู่เสมอ หากพบว่าฟันผุลุกลามจนเกิดเป็นรูแล้ว ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อทำการรักษาอุดฟันต่อไป แต่ถ้าลุกลามถึงโพรงประสาทฟันแล้ว ในกรณีที่ยังไม่มีการทำลายรากฟันน้ำนมและกระดูกเบ้าฟันไปมาก แพทย์จะทำการรักษาคลองรากฟัน หรือถอนฟันในกรณีที่รากฟันน้ำนมและกระดูกเบ้าฟันละลายไปมากแล้วค่ะ
ฟันน้ำนมบิ่น/หัก
อุบัติเหตุในฟันน้ำนมบิ่น หัก โยก พบบ่อยในลูกน้อยวัยซนช่วงอายุ 18 – 30 เดือน ซึ่งความซนของลูกทำให้ฟันของลูกไปกระแทกกับสิ่งของแข็งๆ วิ่งหกล้ม ร่วงจากเก้าอี้ ล้มจากรถหัดเดิน ฯลฯ จนทำให้ฟันแตกหัก หรือบิ่น ซึ่งการรักษาจะแตกต่างกันไปตามลักษณะฟันที่เกิดอุบัติเหตุค่ะ
วิธีการดูแล : เมื่อเกิดอุบัติเหตุต่อฟันน้ำนมการดูแลจะมีความแตกต่างกันไปตามความรุนแรงแลอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ถ้าฟันน้ำนมบิ่นเล็กน้อยไม่โยกหรือโยกเล็กน้อย มีเลือดซึมตามขอบเหงือกแต่ฟันยังอยู่ในตำแหน่งเดิมไม่บิดเบี้ยวออกจากตำแหน่ง ถือว่าเป็นอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลค่ะ ถ้าในกรณีที่มีการกระแทกที่รุนแรงจนฟันหักอาจเกินครึ่งซี่ หรือฟันจมลงกระดูกเบ้าฟัน ฟันโยกมาก ฟันบิดผิดตำแหน่ง ฟันหลุดจากเบ้าฟัน ให้รีบพาลูกไปพบทันตแพทย์ทันทีค่ะ
ลูกกลัวหมอฟัน เป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของเด็กๆ เนื่องจากเด็กๆจะมีจินตนาการว่า หมอฟันน่ากลัว รวมไปถึงการทำฟันจะทำให้เด็กเจ็บปวดได้ค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มด้วยการพาลูกไปพบหมอฟันเพื่อตรวจฟันได้เลยเมื่อฟันซี่แรกขึ้นหรือไม่เกิน 1 ขวบค่ะ โดยที่ฟันยังไม่ผุ เพื่อให้เด็กคุ้นเคยกับหมอฟัน เก้าอี้ทำฟัน และเครื่องมือชนิดต่างๆ ของคุณหมอค่ะ และคุณพ่อคุณแม่จะได้พูดคุยถึงแนวทางการป้องกันฟันผุที่เหมาะสมค่ะ และที่สำคัญการดูแลช่องปากและสุขภาพฟันสามารถเริ่มต้นด้วยการรักษาความสะอาดแปรงฟันอย่างสม่ำเสมอค่ะ เพียงใส่ใจดูแลฟันให้สะอาดแข็งแรง เด็กก็จะมีรอยยิ้มสวยๆแล้วล่ะค่ะ