ต่อมทอนซิลอักเสบในเด็ก

ทอนซิลอักเสบในเด็ก

เมื่อลูกน้อยร้องไห้สิ่งที่ปฏิเสธได้เลยคือเสียงร้องของลูกมันทำลายหัวใจของพ่อแม่ และเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจสาเหตุของการร้องไห้ เพราะในบางครั้งอาจตามมาด้วยอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น ปัญหาการกลืนอาหาร ซึ่งอาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารหรือต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นต้น ดังนั้นวันนี้เราจะมาพูดคุยกันเรื่องทอนซิลอักเสบในเด็กและสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทราบค่ะ

ต่อมทอนซิล เปรียบเสมือนด่านแรกของร่างกายมีหน้าที่ในการกรองเชื้อโรคหรือแบคทีเรียไม่ให้เข้าสู่ร่างกายผ่านทางเดินอาหาร และยังมีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันให้ระบบทางเดินอาหารและทางเดินหายใจค่ะ แต่ก็มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายเช่นกันค่ะโดยเฉพาะในเด็ก เนื่องจากระบบภูมิต้านทานของเด็กยังเจริญเติบโตเต็มที่ส่งผลให้เจ็บป่วยได้ง่าย และต่อมทอนซิลอักเสบพบได้บ่อยในเด็กค่ะ

สาเหตุของต่อมทอนซิลอักเสบในเด็ก
ต่อมทอนซิลอักเสบ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีหลายปัจจัยที่สามารถนำไปสู่ต่อมทอนซิลอักเสบในเด็กได้ดังต่อไปนี้

  • โรคไข้หวัด ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสและเป็นสาเหตุหลักของต่อมทอนซิลอักเสบในเด็ก
  • ติดเชื้อแบคทีเรีย เบต้า-ฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ ซึ่งเป็นกลุ่มแบคทีเรียที่พบบ่อยที่สุดของการติดเชื้อแบคทีเรียค่ะ พบได้บ่อยในเด็กอายุ 5-15 ปี
  • เชื้อรา มักจะพบในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ

อาการของต่อมทอนซิลอักเสบในเด็ก
อาการของต่อมทอนซิลอักเสบในเด็กนั้น มีอาการคล้ายคลึงกันมากกับที่พบในผู้ใหญ่ ได้แก่

  • มีไข้ซึ่งเป็นวิธีที่ร่างกายส่งสัญญาณว่ามีบางอย่างผิดปกติด้วยการเพิ่มอุณหภูมิของร่างกาย
  • ปัญหาในการกลืน เนื่องจากต่อทอนซิลบวมทำให้ถูกับคอส่งผลให้มีอาการปวดอย่างรุนแรงค่ะ
  • มีกลิ่นปาก เนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียในลำคอทำให้เกิดกลิ่นเหม็นค่ะ
  • น้ำลายไหลมากเกินไป ซึ่งเป็นวิธีที่ดีในการสังเกตต่อมทอนซิลอักเสบในเด็กที่ยังไม่สามารถบอกอาการที่เกิดขึ้นได้ และการกลืนอาหารลำบากทำให้มีการสะสมน้ำลายส่วนเกินในปากทำให้มีน้ำลายไหลมากเกินไปค่ะ
  • ปวดหู สังเกตได้จากลูกน้อยชอบดึงหูร่วมกับการร้องไห้หรือไม่กลืนอาหาร คุณแม่สามารคตั้งข้อสังเกตได้เลยว่าลูกอาจต่อมทอนซิลอักเสบได้ค่ะ
  • อาการบวมน้ำของต่อมน้ำเหลืองบริเวณรอบคอและใต้ขากรรไกรค่ะ

ภาวะแทรกซ้อนของต่อมทอนซิลอักเสบในเด็ก
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบหากต่อมทอนซิลไม่ถูกรักษาหรือถูกละเลยนานเกินไป ได้แก่

  • หยุดหายใจขณะหลับ ต่อมทอนซิลอักเสบรุนแรงส่งผลให้เกิดการอุดตันระบบทางเดินหายใจได้
  • ฝีที่ทอนซิล เป็นฝีที่เกิดบริเวณต่อมทอนซิลในช่องปากและผนังด้านในลำคอ
  • ไตอักเสบเฉียบพลัน เมื่อต่อมทอนซิลอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เบต้า-ฮีโมไลติกสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ

การรักษาต่อมทอนซิลอักเสบในเด็ก
ต่อมทอนซิลอักเสบจากเชื้อไวรัสชนิดไม่รุนแรงสามารถหายได้เองเช่นเดียวกับโรคหวัดธรรมดาค่ะ หากมีไข้สามารถรับประทานยาพาราเซลตามอนเพื่อลดไข้ ควรพักผ่อนเพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาดมากๆค่ะ และในกรณีของต่อมทอนซิลอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา และในบางรายที่ต่อทอนซิลอักเสบรุนแรงอาจต้องได้รับการผ่าตัดค่ะ

การป้องกันทอนซิลอักเสบในเด็ก
วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันกรณีต่อมทอนซิลอักเสบในเด็ก คือ การรักษาสุขภาพ การเสริมภูมิต้านทานตามธรรมชาติด้วยโภชนาการที่เหมาะสม การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาดมากๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย ฝึกฝนให้ลูกน้อยรักษาความสะอาดหมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำกับสบู่ก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่อาจติดมากับมือค่ะ ในกรณีที่พบว่าลูกน้อยมีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไปค่ะ